สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2528

อาคารสถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตั้งอยู่เลขที่ 50/2 เกษตรกลาง ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2529

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารสถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2530

ในเวลาต่อมา ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการภายในอาคาร โดยมีนายสัตวแพทย์ ดร.ทิม พรรณศิริ (ขวา) อธิบดีกรมปศุสัตว์ ถวายรายงาน
พร้อมด้วยพลเอกหาญ ลีลานนท์ (ซ้าย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสัตวแพทย์พินิจ ศุภวิไล (ซ้าย-สวมแว่นตา) รองอธิบดีกรมปศุสัตว์

สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานสังกัดกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประวัติความเป็นมาพอสังเขป ดังนี้

            ในปี พ.ศ.2477 กรมเกษตรและกรมประมง ยกฐานะงานด้านบำรุงพันธุ์สัตว์ รักษาและป้องกันโรคสัตว์เป็น "กองอุตสาหกรรมสัตวพรรณ" ในสังกัดกรมเกษตรและการประมง กระทรวงเศรษฐการ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงเกษตราธิการ" ในภายหลัง โดยมี Dr. R.P. Jones รักษาราชการหัวหน้ากองในช่วงแรก แบ่งงานบริหารเป็น 8 แผนก ได้แก่ แผนกวิชาโรคสัตว์ แผนกวัคซีนและซีรั่ม แผนกปราบโรค แผนกด่านกักสัตว์ แผนกสัตว์ใหญ่ แผนกสุกร แผนกเป็ด-ไก่ และแผนกอาหารสัตว์ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 กระทรวงเกษตรและการประมง ได้ปรับปรุงส่วนราชการโดย กองอุตสาหกรรมสัตวพรรณ แบ่งออกเป็น 2 กอง คือ กองสัตวรักษ์ และกองสัตวบาลน์ (ชื่อสมัยนั้นซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "กองสัตวศาสตร์") ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 ได้จัดตั้ง "กองทดลองและค้นคว้า" โดยมีนายเตียง ตันสงวน ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองเป็นคนแรก เป็นจุดเริ่มต้นของ "กองวิชาการ (Veterinary Research Division)" ซึ่งมีหน้าที่ศึกษา วิจัย ค้นคว้า ทดลอง และตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ ก่อนที่จะยกฐานะเป็น "สถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ" และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ" ตามลำดับ

กองวิชาการ (เดิม) ภายในกรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

ปัจจุบันเป็นที่ทำการของกลุ่มพัฒนาวิชาการปศุสัตว์ (สำนักผู้เชี่ยวชาญ)

           

             ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 มีประกาศราชกฤษฎีกา เปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบราชการในกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ โดยเพิ่มส่วนราชการขึ้นเป็น 5 กองในส่วนกลางได้แก่ (1) สำนักงานเลขานุการกรม (2) กองสัตวรักษ์ (3) กองควบคุมโรคระบาด (4) กองทดลองและค้นคว้า และ (5) กองวัคซีนและซีรั่ม   กองทดลองและค้นคว้าได้ยกฐานะจากแผนกวิชาโรคสัตว์ในกองสัตวศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกวิจัยทางบักเตรี แผนกวิจัยทางไวรัส และแผนกวิจัยทางปาราสิต ต่อมาได้เปลี่ยนจากแผนกเป็นฝ่ายและเพิ่มหน่วยงานใหม่ ได้แก่ ฝ่ายแบคทีเรีย ฝ่ายชีวเคมี ฝ่ายไวรัส ฝ่ายปาราสิต ฝ่ายพยาธิวิทยา ฝ่ายอิมมูนวิทยา และสถานีวิจัยไวรัสรินเดอร์เปสต์ ที่เกาะเสม็ด อ.เมือง จ.ระยอง (ปัจจุบันยุบหน่วยงานและโอนอาคารและที่ดินให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ) ต่อมากรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมปศุสัตว์" ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม มาตรา 4 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2495 และมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม หมวดที่ 5 มาตรา 14 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2496 กองทดลองค้นคว้าเปลี่ยนชื่อเป็น "กองวิชาการ" มีที่ทำการอยู่ที่อาคารภายในกรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร กองวิชาการมีหน้าที่ค้นคว้าในเรื่องโรคที่เป็นภัยคุกคามทำลายสุขภาพและชีวิตสัตว์เลี้ยงทั่วไป ทดลองค้นคว้าในการทำวัคซีนและเซรัม เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโรค ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตวัคซินให้มีประสิทธิภาพสูง และเผยแพร่ความรู้ในด้านวิชาการจากผลของการวิจัย

นายสัตวแพทย์ ดร. ทิม พรรณศิริ
อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์
(9 ตุลาคม 2522 - 30 กันยายน 2531)

นายสัตวแพทย์ วิเศษ ประเสริฐ
อดีตเลขานุการกรมปศุสัตว์
ปศุสัตว์เขต 2 และปศุสัตว์เขต 8

นายสัตวแพทย์ วิมล จิระธนะวัฒน์
อดีตหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ / อดีตผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ /
อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
(13 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง วันที่ 9 ตุลาคม 2555 ) /
ปศุสัตว์เขต 8 /อดีตผู้อำนวยการพัสดุ / อดีตผู้อำนวยการฝึกอบรม

รศ. สัตวแพทย์หญิง ดร.อนงค์ บิณฑวิหค
อดีตนายสัตวแพทย์ กลุ่มชีวเคมีและพิษวิทยา /
อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ตุลาคม 2528]

             หลังจากรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาและสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์อย่างจริงจัง รวมทั้งมีการบริโภคและส่งออกผลผลิตสัตว์เพิ่มมากขึ้น ทำให้การตรวจชันสูตรโรคสัตว์ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นด้วยและสถานที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ กรมปศุสัตว์ในช่วงที่นายสัตวแพทย์ ดร. ทิม พรรณศิริ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์วิเศษ ประเสริฐ เป็นเลขานุการกรม ได้เสนอขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นโดยผ่าน JICA (Japanese International Cooperation Agency) ในโครงการสถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ (National Animal Health and Production Institute : NAHPI) โดยมีนายสัตวแพทย์วิเศษ ประเสริฐ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการโครงการฯ นายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ และสัตวแพทย์หญิงอนงค์ บิณฑวิหค เป็นคณะกรรมการประสานงานความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้จัดสรรเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าในด้านสิ่งก่อสร้าง (อาคารปฏิบัติงาน) บนเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ เลขที่ 50/2 ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกษตรกลาง แขวงลาดยาว เขตบางเขน (ปัจจุบันเป็นเขตจตุจักร) กรุงเทพฯ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์และทุนฝึกอบรม ดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการลงนาม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคนิคและวิธีการชันสูตรโรคสัตว์และพัฒนาบุคลากร เริ่มสำรวจออกแบบและก่อสร้างเมื่อเดือนกันยายน 2527 จนถึงเดือนมีนาคม 2528
 
            กองวิชาการ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาลักษณะงานใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมปศุสัตว์ และการจัดระบบข้าราชการเข้าปฏิบัติงานให้ตรงกับสายงานตามระบบ P.C. (Position Classification System) ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพบเรือน (ก.พ.) นำมาใช้ในระบบราชการไทย จึงทำให้ฝ่ายต่างๆ เปลี่ยนเป็น "กลุ่มงาน" รวม 7 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานพยาธิวิทยา กลุ่มงานไวรัสวิทยา กลุ่มงานแบคทีเรียและเชื้อรา กลุ่มงานอิมมูนและซีรั่มวิทยา กลุ่มงานพิษวิทยาและชีวเคมี กลุ่มงานปาราสิตวิทยา และกลุ่มงานระบาดวิทยา และมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอำนวยการ และฝ่ายเลี้ยงสัตว์ทดลอง มีการขยายงานไปยังส่วนภูมิภาคโดยก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ โดยเริ่มต้นใช้ชื่อ "ศูนย์วินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว" เมื่อ ปี 2528 และ "ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ เมื่อ พ.ศ.2545" โดยใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน ดังนี้
 
            พ.ศ.2518 ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ บนที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งกองทราย เลขที่ 124/2 หมู่ 7 ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ และเริ่มทำการเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้แผนโคลัมโบในโครงการปรับปรุงสุขภาพสัตว์ เป็นเวลา 9 ปี (2521-2527 และ 2530-2532) มูลค่าความช่วยเหลือ 35 ล้านบาท รับผิดชอบพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสตูล
 
            พ.ศ.2519 ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งอยู่ที่ข้างเส้นทางหลวงหมายเลข 203 (ขอนแก่น-โกสุมพิสัย)ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รับผิดชอบพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร เลย สกลนคร หนองคาย และหนองบัวลำพู และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่ที่ข้างเส้นทางหลวงหมายเลข 11 หลักกิโลเมตรที่ 21 (ลำปาง-เชียงใหม่) ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง บนเนื้อที่ 80 ไร่ รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ทั้ง 2 ศูนย์เปิดทำการในปี 2521
 
            ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2528 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ ต่อมา ฯพณฯ นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น ได้มาเป็นประธานในพิธีรับมอบอาคารสถาบันฯ และเครื่องมืออุปกรณ์รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,357 ล้านเยน หรือประมาณ 400 ล้านบาท จากตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2529 ในเดือนตุลาคม 2529 กองวิชาการ กรมปศุสัตว์ได้ย้ายที่ทำการจากบริเวณกรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท กรุงเทพฯ มาปฏิบัติงานในอาคารหลังใหม่ ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หลังการก่อสร้างอาคาร สถานที่ และติดตั้งอุปกรณ์เสร็จแล้วเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอาคารสถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ จึงถือเอาวันที่ 6 มกราคมของทุกๆ ปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
 
            นอกจากความความช่วยเหลือด้านอาคารและเครื่องมืออุปกรณ์แล้ว นายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการในช่วงนั้น ได้ขอสนับสนุนด้านวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ.2529-2542 มีมูลค่าประมาณ 800 ล้านเยน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ พ.ศ.2530-2537 และ พ.ศ.2538-2542 โดยส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงานด้านวิจัย และยังให้งบประมาณสนับสนุนด้านการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จากประเทศไทย และประเทศแถบเอเชีย สนับสนุนนักวิจัยของสถาบันฯ ในการศึกษาต่อและทำวิจัยหลักสูตรปริญญาเอก (Dissertation, Ph.D.) ณ ประเทศญี่ปุ่น
 
ต่อมามีการก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์อีก 3 แห่ง คือ
            พ.ศ.2536 ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก (ชลบุรี) ตั้งอยู่ข้างเส้นทางหลวงหมายเลข 349 ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี รับผิดชอบพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และสระแก้ว
            พ.ศ.2541 ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก (ราชบุรี) ตั้งอยู่ข้างเส้นทางหลวงหมายเลข 3357 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
            พ.ศ.2543 ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) ตั้งอยู่ข้างเส้นทางหลวงหมายเลข 117 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก รับผิดชอบพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สุรินทร์) ตั้งอยู่ข้างเส้นทางหลวงหมายเลข 214 (ปราสาท-สุรินทร์) ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ รับผิดชอบพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
 
ปีงบประมาณ 2546-2547 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ สังกัดสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย
 
             สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เป็นองค์กรหลักของประเทศในการวิจัย ชันสูตรโรค และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสุขภาพสัตว์ภายในประเทศแล้ว ยังร่วมมือกับกรมวิเทศสหการ และ JICA จัดฝึกอบรมหลักสูตร Diagnosis Technology and Control Measures for Livestock Major Diseases ให้แก่เจ้าหน้าที่จากประเทศไทย และกลุ่มประเทศแถบเอเชียเป็นรุ่นแรกเมื่อ ปี 2541โดยมีนายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นผู้ประสานติดต่อด้านงบประมาณกับต่างประเทศ และสัตวแพทย์หญิงโศภิษฐ์ ธัญลักษณากุล ประสานงานการจัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงการนี้ได้จัดทุกปีจนถึงปี 2547 เป็นรุ่นที่ 7 หลักสูตร Animal Health Related to Food Safety รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม - 10 มิถุนายน 2548 ยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลียโดยองค์การ ACIAR (Australia Centre for International Agricultural Research) ส่งผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียมาปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคเหนือในโครงการพัฒนาการชันสูตรโรคปากและเท้าเปื่อย นอกจากความช่วยเหลือในระยะแรกแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความช่วยเหลือสถาบันฯ ในด้านเทคนิคและวิชาการอย่างต่อเนื่องอีกเป็นระยะที่ 2 (2538-2542) มีมูลค่า 80 ล้านเยน หรือประมาณ 13.6 ล้านบาท ยังให้ความช่วยเหลือจัดสร้างศูนย์โรคปากและเท้าเปื่อยที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดกองผลิตชีวภัณฑ์มูลค่า 200 ล้านบาท สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ทำหน้าที่ทางด้านค้นคว้าทางสัตวแพทย์และสุขภาพสัตว์ในขอบเขตด้านงานชันสูตรโรคสัตว์สาขาต่างๆ งานวิจัยทางสัตวแพทย์ งานระบาดวิทยา และบริการสุขภาพสัตว์ ร่วมมือกับรัฐบาลประเทศเยอรมันในโครงการปรับปรุงสุขภาพสัตว์ไทย-เยอรมัน (GTZ : Gesellschatf fuer Technische Zusammenarbeit) โครงการชันสูตรและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย โครงการความช่วยเหลือจาก ADB, FAO, OIE เป็นต้น
 
             ต่อมามีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2537 เปลี่ยนชื่อ "สถาบันสุขภาพสัตว์และผลิตสัตว์แห่งชาติ" เป็น "สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (National Institute of Animal Health : NIAH)" กรมปศุสัตว์ มีคำสั่งที่ 80/2541 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2544 จัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับชาติสำหรับโรคนิวคาสเซิล ณ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ห้องปฏิบัติการตั้งอยู่บริเวญชั้นล่างของอาคารปฏิบัติการ งบประมาณดำเนินงานส่วนหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้ส่งออกไก่ฯ ในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี และค่าจ้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เพื่อการเฝ้าระวังโรคนิวคาสเซิลในฝูงสัตว์ปีกที่ผลิตเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์
 
             จากการปฏิรูปราชการเมื่อต้นปีงบประมาณ 2546 แบ่งหน่วยราชการเป็น ฝ่ายบริหารทั่วไป ส่วนบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ กลุ่มพยาธิวิทยา กลุ่มไวรัสวิทยา กลุ่มแบคทีเรียและเชื้อรา กลุ่มปาราสิตวิทยา กลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา กลุ่มพิษวิทยาและชีวเคมี กลุ่มสัตว์ทดลอง กลุ่มโรคสัตว์น้ำและสัตว์ป่า กลุ่มรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์ และ ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (โอนจากกองผลิตชีวภัณฑ์ ชื่อเดิม ปัจจุบัน คือ สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์) และแบ่งหน่วยราชการภายใน ได้แก่ งานชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มไวรัสวิทยา (โอนจากกองควบคุมโรคระบาด) ห้องปฏิบัติการนิวคาสเซิล และศูนย์เลปโตสไปโรสิสซึ่งได้เปิดตึกชันสูตรโรคสัตว์ติดคน ตั้งอยู่บริเวณสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เป็นที่ปฏิบัติงานของศูนย์เลปโตสไปโรสิสเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2546 ทำหน้าที่ชันสูตรและวิจัยเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งวิจัยโรคสัตว์สู่คน (zoonosis) อื่นๆ ที่ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย เช่น โรควัวบ้า โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ เป็นต้น
 
            กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 103 ก หน้า 239 วันที่ 9 ตุลาคม 2545 กำหนดหน้าที่ของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ดังนี้ (ก) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ (ข) ดำเนินการพัฒนาระบบประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์ และเป็นเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการชันสูตรโรคสัตว์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ค) การอนุรักษ์ ศึกษา และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์จุลินทรีย์ และปาราสิตในสัตว์ (ง) การวินิจฉัย และชันสูตรโรคสัตว์ รวมทั้งผลิตชีวสารต้นแบบ เพื่อใช้ในการทดสอบและป้องกันโรค (จ) เป็นศูนย์ข้อมูลระบาดวิทยาทางห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์ และศูนย์ปฏิบัติการด้านสุขภาพสัตว์ของประเทศ (ฉ) ให้คำปรึกษา แนะนำ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ และ(ช) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
 
             ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2548 กรมปศุสัตว์ออกคำสั่งที่ 188/2548 ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ทั้ง 7 ศูนย์ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ทั้งการบริหารแผนงาน การบริหารบุคคล และงบประมาณ และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ปรับเปลี่ยนส่วนราชการภายในเป็น กลุ่มพยาธิวิทยา กลุ่มไวรัสวิทยา กลุ่มแบคทีเรียและเชื้อรา กลุ่มปาราสิตวิทยา กลุ่มอิมมูนและซีรั่มวิทยา กลุ่มชีวเคมีและพิษวิทยา ศูนย์เลปโตสไปโรสิส กลุ่มระบาดวิทยาทางห้องปฏิบัติการ กลุ่มพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ส่วนบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ และกลุ่มสัตว์ทดลอง สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ทำหน้าที่วิจัย และชันสูตรโรคสัตว์เพื่อสนับสนุนการผลิตปศุสัตว์ตามปกติ และนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร (Food safety) ของรัฐบาล เพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยในการชันสูตรโรคสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงทั่วไป สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น ในช่วงที่มีการระบาดของโรคในสัตว์ปีกนั้นเป็นห้องปฏิบัติการหลักในการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์เพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก
 
             สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติมีภารกิจหลักด้านศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ การวินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์ รวมทั้งผลิตชีวสารต้นแบบเพื่อใช้ในการทดสอบและป้องกันโรค พัฒนาระบบประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์ จัดทำระบบประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการชันสูตรโรคสัตว์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุรักษ์ ศึกษา และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์จุลินทรีย์ และปรสิตในสัตว์ พัฒนาศูนย์ข้อมูลระบาดวิทยาทางห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์ ให้คำปรึกษา แนะนำ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ โครงการ ฝึกอบรม International training course on diagnostic technology and control measures for major livestock disease ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่จากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน และมองโกเลีย กลุ่มประเทศเอเชียใต้ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฐาน เนปาล และศรีลังกา รวมทั้งประเทศไทยจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ในส่วนภูมิภาค รุ่นแรกจัดฝึกอบรมเมื่อ พ.ศ.2541 และจัดฝึกอบรมถึง พ.ศ.2547 รวม 7 รุ่น จำนวน 115 คน นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมระดับภูมิภาคทางด้านโรควัวบ้า จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไข้หวัดไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน และร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยโรคสัตว์นำเข้าชายแดน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านชันสูตรโรคสัตว์แก่เจ้าหน้าที่จากกลุ่มประเทศอาเซียนดด้วยการสนับสนุนงบประมาณ จากองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมปฏิบัติงานหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมายจากกรมปศุสัตว์ มีผลงานวิจัยเด่นๆ เช่น วิจัยการผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรที่พัฒนาในเซลล์เพาะเลี้ยงแทนการผลิตโดยฉีดเชื้อในกระต่ายซึ่งต้องใช้กระต่ายจำนวนมาก วิจัยการผลิตวัคซีนพาร์โวไวรัส ในห่านและเป็ดเทศซึ่งเคยมีการระบาดรุนแรงเมื่อปี 2536 มีเป็ดเทศและห่านตายจำนวนมาก วิจัยการผลิตชุดทดสอบชนิดยาในอาหารสัตว์เพื่อนำไปใช้ภาคสนามในการตรวจหายาปฏิชีวนะ พรีมิกซ์ และสารตกค้างปนเปื้อนในอาหารสัตว์ ได้ถึง 9 ชนิด เช่น ยากลุ่มไนโตรฟูแรนต์ (5 ชนิด) ร็อกซาโซน โซอาลีน คลอเตทตระไซคลิน และออกซีเตทตระไซคลิน เพื่อแก้ปัญหาสารตกค้างในไก่และกุ้ง วิจัยพัฒนาวิธีตรวจโรคสัตว์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เช่น โรควัวบ้า โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ โรคไข้หวัดนก ซัลโมเนลลา ฯ โรคต่างถิ่นจากสัตว์นำเข้า ผลิตชีวสาร หรือ ชีวผลิตภัณฑ์ (biologics) เพื่อใช้ชันสูตรโรคสัตว์ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ในแต่ละปีสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ 7 ศูนย์ ได้ชันสูตรโรคสัตว์ประมาณ 500,000 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการชันสูตรโรคไข้หวัดนก ปฏิบติงานโครงการความปลอดภัยด้านอาหาร สนับสนุนกิจกรรมมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม ค้นคว้าวิจัยด้านสุขภาพสัตว์ ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความร่วมมือด้านสุขภาพสัตว์ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ตามโครงการ Japan-Thailand Technical Cooperation on Animal Disease Control in Thailand and neighboring Countries ปีงบประมาณ 2548 มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานภายใน คือ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ แบ่งเป็น สำนักงานส่วนกลาง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย กลุ่มพยาธิวิทยา กลุ่มไวรัสวิทยา กลุ่มแบคทีเรียและเชื้อรา กลุ่มปาราสิตวิทยา กลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา กลุ่มชีวเคมีและพิษวิทยา ศูนย์เลปโตสไปโรสิส สนับสนุน ประกอบด้วย กลุ่มระบาดวิทยาทางห้องปฏิบัติการ กลุ่มพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ส่วนบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ (ฝ่ายบริหารทั่วไป ฝ่ายวางแผนและถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายช่างและซ่อมบำรุง) และสำนักงานส่วนภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จ.นครราชสีมา (ฝ่ายบริการกลาง กลุ่มมาตรฐานและประกันคุณภาพการตรวจสอบ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเชื้อและชีวสาร) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.สุรินทร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก จ.ราชบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช โดยแต่ละศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ แบ่งเป็นกลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะ กลุ่มชันสูตรโรคสัตว์ กลุ่มตรวจสอบมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มระบาดวิทยาและสารสนเทศ และฝ่ายบริหารทั่วไปสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ในส่วนภูมิภาค 7 ศูนย์ ได้รับมอบหมายให้เป็นห้องปฏิบัติการหลักในการตรวจวินิจฉัยโรคไข้หวัดนกและในปีงบประมาณ 2549-2551 ได้รับงบประมาณ 200 ล้านบาท จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรคไข้หวัดนกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพื้นที่เกษตรกลาง และก่อสร้างห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์ปีกในศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ แห่งละ 30 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยโรคไข้หวัดนกให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
 
             ในปีงบประมาณนี้มีการปรับเปลี่ยนลูกจ้างชั่วคราวภายใต้งบประมาณแผ่นดินที่ปฏิบัติงานติดต่อกัน 4 ปี 6 เดือนขึ้นไป เป็น "พนักงานราชการ" ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2547 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2547 จำนวน 41 อัตราปีงบประมาณ 2549 งานของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ได้เพิ่มมากขึ้นทั้งงานชันสูตรโรคสัตว์ โครงการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ การตรวจวิเคราะห์สินค้าปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งใน/ต่างประเทศ ประกอบกับรัฐบาลไม่มีนโยบายบรรจุข้าราชการ/ลูกจ้างใหม่และทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ ทำให้บุคลากรไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลแก้ไขโดยให้มีการเลือกสรรและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็น "พนักงานราชการ (Government employee)" ได้รับค่าตอบแทนรายเดือน ดังนี้ ปริญญาตรี (นักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการสัตวบาล นักวิชาการเงินและบัญชี นักวิชาการพัสดุ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม นักวิชาการโสตทัศนศึกษา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป) 8,720 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส. เจ้าพนักงานธุรการ เจ้าพนักงานสถิติ เจ้าพนักงานสัตวบาล) 7,880 บาท โดยได้รับค่าครองชีพอีก 1,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล) 6,410 บาท ค่าครองชีพ 1,000 บาท และคนงานห้องทดลอง 5,570 บาท ค่าครองชีพ 7,000 บาท โดยอัตราที่ได้รับจัดสรรรวมทั้งสิ้น 348 อัตรา ประกอบด้วยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ 111 อัตรา ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 อัตรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน 30อัตรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง 34 อัตรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 32 อัตรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 35 อัตรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก 33 อัตรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก 34 อัตรา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ 31 อัตรา
 
              นายสัตวแพทย์พรชัย ชำนาญพูด ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (8 ธันวาคม 2548 ถึง 10 มกราคม 2551) ของบประมาณก่อสร้างห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพในศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ และก่อสร้างห้องเลี้ยงสัตว์ทดลองที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 ภายในอาคารสัตว์ทดลอง และมีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติในโอกาสสถาปนาครบรอบ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2550 ณ โรงแรมรามาการ์เดน ในช่วงปีนี้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ 7 ศูนย์ และศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการตามระบบ ISO/IEC 17025 : 2005 เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นระบบคุณภาพที่ยอมรับกันทั่วโลก เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพและประกันคุณภาพการทดสอบให้มีความแม่นยำ เชื่อถือได้ และสามารถสอบย้อนกลับได้ (traceability) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ มีการบริหารงานด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ และชันสูตรโรคสัตว์อย่างมืออาชีพ ผลการทดสอบรับประกันคุณภาพความถูกต้อง แม่นยำ ก่อให้เกิดความพอใจสูงสุดต่อผู้รับบริการ และมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์การอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของสากล สามารถส่งเสริมการควบคุมป้องกันโรคของปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์แข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ขอบข่ายที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ 5 ขอบข่าย ได้แก่ การตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5 ในซีรัมไก่ โดยวิธี Haemagglutination Inhibtion test (HI test) (กลุ่มไวรัสวิทยา) การตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ Brucella abortus ในซีรัมโค โดยวิธี Rose Bengal Test ( กลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา) การตรวจอะฟลาท็อกซินในอาหารสัตว์สำเร็จรูป โดยวิธี Fluorometry (กลุ่มพิษวิทยาและชีวเคมี) การตรวจเชื้อซัลโมเนลลาในอวัยวะภายในไก่โดยวิธี Bacterial Isolation (กลุ่มแบคทีเรียและเชื้อรา) และการตรวจเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยวิธี Fluorescent Antibody Technique ( กลุ่มไวรัสวิทยา) ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดนครราชสีมา 3 ขอบข่าย คือ การตรวจสอบและวินิจฉัยโรคปากและเท้าเปื่อย (ELISA Typing test)การตรวจระดับแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (LP ELISA test) และ การตรวจระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ Non Structure Protein Test (3B NSP, UBI) ของ FMDV ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง 2 ขอบข่าย คือ การตรวจเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยวิธี Fluorescent Antibody Technique และการตรวจระดับ Calcium ในซีรัมสัตว์ โดยวิธี o-Cresolphthalein complexone ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) ขอบข่ายการตรวจเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยวิธี Fluorescent Antibody Technique ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) ขอบข่ายการตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ Brucella abortus ในซีรัมโค โดยวิธี Rose Bengal Test ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สุรินทร์) ขอบข่าย การตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ Brucella abortus ในซีรัมโค โดยวิธี Rose Bengal Test ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก (ชลบุรี) ขอบข่ายการตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ Brucella abortus ในซีรัมโค โดยวิธี Rose Bengal Test ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก (ราชบุรี) ขอบข่ายการตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ Brucella abortus ในซีรัมโค โดยวิธี Rose Bengal Test และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) ขอบข่ายการตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ Brucella abortus ในซีรัมโค โดยวิธี Rose Bengal Test ในปีต่อๆ มามีการเสนอขอรับรองขอบข่ายใหม่อีกหลายขอบข่ายเพื่อให้ครอบงานด้านตรวจชันสูตรโรคสัตว์และตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ประมาณปีละ 100 ขอบข่าย รวมทั้วสมาคมผู้ส่งออกไก่สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาคอมพิวเตอร์ให้แก่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและศูนย์ในส่วนภูมิภาค รวมทั้งปรับปรุงห้องศูนย์บริการกลาง และภูมิทัศน์
 
              นายสัตวแพทย์พรชัย ชำนาญพูด ริเริ่มมีนโยบายสำคัญในการพัฒนางานด้านบริหารทั่วไป โดยมุ่งพัฒนาสู่ระบบบริหารคุณภาพ ตามมาตรฐาน ISO 9001 ได้ดำเนินการจัดทำระบบบริหารคุณภาพ และขอรับรองจากสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - 2557 ต่่อเนื่องมาจนถึงในช่วงที่นายสัตวแพทย์สำเริง วรศรี นายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ และนายสัตวแพทย์ปรีชา วงษ์วิจารณ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (ส่วนกลาง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ (พิษณุโลก ชลบุรี ราชบุรี ขอนแก่น ลำปาง สุรินทร์ นครศรีธรรมราช) ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเป์่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์ ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ตามมาตรฐาน ISO 9001 ในขอบข่ายงานสารบรรณ การให้บริการยานพาหนะ การให้บริหารงานช่าง การจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ นับว่าเป็นหน่วยงานแรกของกรมปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ตามมาตรฐาน ISO 9001
 
              ปี 2551 กรมปศุสัตว์และรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกันในโครงการ Zoonosis Disease Control Center (ZDCC) โดยส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เพื่อทำการวิจัยด้านโรคไข้หวัดนกในสัตว์ชนิดต่างๆ มีการปรับปรุงห้องซักล้างให้เป็นศูนย์บริการกลางสำหรับเครื่องแก้ว วัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อรองรับงานตามระบบ ISO ดังกล่าว มีการของบประมาณก่อสร้างอาคารเก็บพัสดุและสารเคมี ในบริเวณคอกเลี้ยงแกะ มูลค่า 14.5 ล้านบาท ได้เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา (มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2552)
 
              ต่อมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ถึง กันยายน 2551 นายสัตวแพทย์สำเริง วรศรี ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (11 มกราคม 2551 ถึง 30 กันยายน 2551) มีการปลูกต้นไม้ยืนต้นภายในบริเวณสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เพิ่มเติมโดยเฉพาะต้นราชพฤกษ์และชัยพฤกษ์ ตามโครงการรณรงค์ลดปัญหาโลกร้อน รวมทั้งจัดให้มีการแต่งเพลงมาร์ชประจำสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์น้ำขึ้นเป็นการภายใน โดยปรับปรุงห้องเผาซากเป็นห้องปฏิบัติการ มีนายสัตวแพทย์ ดร.ทินรัตน์ ศรีสุวรรณ์ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ ระยะแรกมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ภายในห้องสมุด ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 การปรับปรุงห้องได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยจึงย้ายมาปฏิบัติงานที่เป็นการถาวรต่อไป ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป บริการตรวจวินิจฉัยโรคในสัตว์น้ำโดยไม่คิดค่าบริการ
 
              สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยกเลิกการจัดระบบข้าราชการแบบ P.C. (แบ่งข้าราชการระดับ 1 ถึง ระดับ 11) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นระบบแท่ง (กำหนดชื่อเรียกระดับตำแหน่งแทนตัวเลข ระดับ 1 ถึง ระดับ 11) ตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มีการปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน ให้สนับสนุนการบริหารงานบุคคลภาครัฐแนวใหม่ที่มุ่งเน้นสมรรถนะของบุคคล และผลสัมฤทธิ์ของงาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความสำเร็จขององค์กร โดยจัดตำแหน่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับลักษณะภารกิจของรัฐและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร ได้มีการการแบ่งข้าราชการเป็น 4 ประเภท (แท่ง) ได้แก่ ประเภททั่วไป (ระดับต้น ระดับอาวุโส ชำนาญงาน ทักษะพิเศษ) ประเภทวิชาการ (ระดับต้น ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ทรงคุณวุฒิ) ประเภทอำนวยการ (ระดับต้น ระดับสูง) และประเภทบริหาร (ระดับต้น ระดับสูง) การจำแนกกลุ่มตำแหน่งเป็น 4 ประเภทอิสระจากกัน แต่ละกลุ่มมี 2 - 5 ระดับ แตกต่างกันตามค่างานและโครงสร้างการทำงานในองค์กร มีบัญชีเงินเดือนพื้นฐานแยกแต่ละกลุ่ม
 
             ปีงบประมาณ 2552 นายสัตวแพทย์นิรันดร เอื้องตระกูลสุข ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (1 ตุลาคม 2551 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2552) มีนโยบายให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานย่อยในสังกัดส่วนบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ โดยแบ่งเป็นหน่วยงานย่อย ได้แก่ ฝ่ายบริหารทั่วไป (งานสารบรรณ งานการเงินและบัญชี งานแผนและงบประมาณ งานบุคลากร ศูนย์บริการกลาง ห้องสมุด งานอาคารเก็บวัสดุและสารเคมี หน่วยรถยนต์ งานอาคารสถานที่ งานประชาสัมพันธ์) ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี และฝ่ายช่าง รวมทั้งมีการปรับปรุงห้องประชุม 1 ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อรองรับการประชุมผู้บริหาร การบรรยายพิเศษการต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่ทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ถึง 12 มิถุนายน 2552
 
             ในปี พ.ศ.2552 ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (RRL) สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้รับการยอมรับจาก OIE อย่างเป็นทางการให้เป็น OIE Reference Laboratory for Foot and Mouth Disease (FMD) ศูนย์ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจวินิจฉัยโรคปากและเท้าเปื่อยจากตัวอย่างทั้งในประเทศและจากต่างประเทศจากกลุ่มสมาชิก ASEAN และ SEAFMD วิจัยและพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบ การผลิตสารตรวจสอบและเป็นศูนย์กลางเครือข่ายและฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน FMD ให้กับนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ได้เปิดบริการรับตัวอย่างจากต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา โดยมีอาคารที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ระดับ 3 (BSL-3) ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบกับ RRL ได้รับการรับรองขีดความสามารถการทดสอบทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025:2005 มีความพร้อมและมีความเชื่อมั่นในการยื่นขอเป็น OIE Reference Laboratory โดยการจัดเตรียมเอกสาร Application for Designation as OIE Reference Laboratory ตามข้อกำหนดของ OIE ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้ง RRL ให้ได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน OIE เป็น Reference Laboratory ด้านโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้าน Biosafety expert, Biocontainment expert และ Dr. Ross A. Lunt จากหน่วยงาน Australian Animal Health Laboratory (AAHL) ประเทศออสเตรเลียมาเป็นเวลายาวนานและเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2551 ได้รับหนังสือแจ้งจากหน่วยงาน OIE โดย Dr. Bernard Vallat, OIE Director General ได้แจ้งผลการยอมรับขีดความสามารถห้องปฏิบัติการของศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยให้เป็น OIE Reference Laboratory และยอมรับสัตวแพทย์หญิงวิไล ลินจงสุบงกช ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยโรคปากและเท้าเปื่อย กรมปศุสัตว์ และผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็น OIE FMD expert ทั้งนี้ OIE ประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุม OIE General Session ประจำปีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสต่อไป ซึ่งจัดว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในแถบทวีปเอเชียที่ได้รับการยอมรับเป็น OIE Reference Laboratory ด้านโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็น 1 ใน 7แห่งของทั่วโลก คือ อังกฤษ บราซิล รัสเซีย บอสวานา อาร์เจนติน่า เบลเยี่ยม และไทย นับว่าเป็นการนำชื่อเสียงมาสู่กรมปศุสัตว์เพื่อให้นานาประเทศได้ยอมรับขีดความสามารถและมาตรฐานสากลเกี่ยวกับงานด้านวินิจฉัยโรควิจัยและพัฒนาโรคปากและเท้าเปื่อยของประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นประโยชน์ในด้านการต่อรองลดข้อกีดกันทางการค้าด้านปศุสัตว์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออก
 
             นายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (13 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง ปัจจุบัน) มีนโยบายด้านความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอกให้มากขึ้น เริ่มต้นจากสัตวแพทย์หญิงมนทกานติ์ วงศ์ภากร หัวหน้ากลุ่มปรสิตวิทยา ร่วมกับฟาร์มโชคชัยที่หารือถึงแนวทางในการทดลองวัคซีนไข้เห็บโคนำเข้าจากต่างประเทศ และมีการตรวจตัวอย่างจากสวนสัตว์เป็นประจำ จึงเสนอให้มีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมปศุสัตว์กับหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้เห็บโค ปัญหาสุขภาพโคนม และสัตว์ป่า ต่อมานายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายโชค บุลกุล กรรมการและผู้จัดการกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 และนายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ ดร.โสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 และขยายขอบข่ายใหม่เพื่อขอรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการตามระบบ ISO/IEC 17025 รวมทั้งมีนโยบายให้หน่วยงานส่วนกลาง (ฝ่ายบริหารทั่วไป)และงานบริหารทั่วไปของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ และศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 เข้ามาใช้ และเข้าร่วมโครงการ "Strengthening the Emerging Infectious Diseases (EID) surveillance capability of Thailand and South East Asia" โดยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมปศุสัตว์โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ร่วมกับ The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization (CSIRO)แห่งสหพันธรัฐออสเตรเลีย ระหว่าง พ.ศ.2552-2554
 
            ในปี พ.ศ.2553 เลื่อนระดับผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ (นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญ) และกรมปศุสัตว์ได้เห็นชอบให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ดำเนินโครงการ Laboratory Twinning Program Plan (Brucellosis) กับห้องปฏิบัติการ Bacterial Zoonoses Unit, OIE/FAO Animal Brucellosis Reference Laboratory, Maisons-Alfort Animal Health Laboratory, French Agency for Food, Environmental & Occupational Health Safety (ANSES) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยที่สัตวแพทย์หญิงมนยา เอกทัตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยโรคสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ เป็นผู้ประสานงาน เมื่อเร็วๆ นี้จัดให้มีการบรรยายพิเศษภายใต้โครงการนี้ในเรื่อง “Brucella melitensis control and eradication strategies” ได้รับเกียรติจากนายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เป็นประธานเปิดการบรรยายพิเศษ และ Dr. Bruno Garin-Bastuji ผู้เชี่ยวชาญโรคบรูเซลโลสิส OIE/FAO จากห้องปฎิบัติการ OIE/FAO Reference Laboratory for Brucellosis เป็นวิทยากร เมื่อวันอังคารที่ 12 เมษายาน 2554 ณ ห้องประชุมใหญ่ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หลักของโครงการประกอบด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ห้องปฏิบัติ การโรคบรูเซลโลสิสมีความเชี่ยวชาญด้านการชันสูตรโรคทางซีรัมวิทยาและการคัด กรองโรค และด้านแบคทีเรียวิทยาโดยการเพาะแยกเชื้อบรูเซลลา รวมทั้งการดำเนินงานกิจกรรมห้องปฏิบัติการอ้างอิงในการควบคุมดูแลมาตรฐานของ สารทดสอบและวัคซีนให้ได้มาตรฐานของ OIE สำหรับโปรแกรมการควบคุม กำจัด และเฝ้าระวังโรคบรูเซลโลสิส และรับรองให้ห้องปฏิบัติการของกลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการ Regional serological proficiency ring-trials เพื่อเพิ่มคุณภาพการทดสอบโรคของห้องปฏิบัติการระดับชาติในภูมิภาค และการ typing เชื้อบรูเซลลาและการตรวจทางชีวโมเลกุล และการจำแนกชนิด ส่วนแผนการดำเนินงานและการฝึกอบรมนั้นจะจัดฝึกอบรมและเยี่ยมติดตามและให้คำ แนะนำห้องปฏิบัติการจากผู้เชี่ยวชาญหลังจากเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการได้ ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเพื่อพัฒนาองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การดำเนินการให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเข้าร่วม European/International proficiency ring-trials ที่ ANSES เป็นผู้ดำเนินการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าด้านคุณภาพของการทดสอบทางซีรัมวิทยา รวบรวมซีรัมจากโค กระบือ แพะและแกะที่เป็นโรคบรูเซลโลสิสเพื่อเป็นซีรัมสำหรับทำ regional secondary standard sera (เปรียบเทียบกับ OIE international standard sera) เป็นซีรัมสำหรับในการทำ regional ring-trials และใช้ในการควบคุมประกันคุณภาพและการ Validate การทดสอบการดำเนินการรวบรวมเชื้อบรูเซลลารวมถึงเชื้ออ้างอิงที่ได้รับจาก ANSES (สายพันธุ์สำหรับการ typing สายพันธุ์สำหรับการเตรียมแอนติเจนและวัคซีน) สายพันธุ์ที่ได้จากการเพาะแยกเชื้อจาก โค กระบือ แพะและแกะที่ได้รับจากพื้นที่ในภูมิภาค ให้คำแนะนำในการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพตามระบบ ISO/IEC 17025 ให้ความอนุเคราะห์ Brucella-phages และ monospecific sera เพื่อใช้ในการทำ Brucella biotyping ที่ สสช. และให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการทำวิจัยรวมทั้ง sero-prevalence surveys การดำเนินงานในรอบ 6 เดือนแรกประกอบด้วยฝ่ายไทยจัดส่งเจ้าหน้าที่ของกลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา 3 คน เข้ารับการฝึกอบรมครั้งแรกในหลักสูตร “Serological diagnosis and control of diagnostic antigens and ELISA kits” ที่ ANSES ระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม 2553 ต่อมาทาง ANSES ได้ถ่ายทอดความรู้พร้อมส่งเชื้ออ้างอิงและสารทดสอบต่างๆ จัดทำ STOP ของการทดสอบทางซีรัมวิทยาฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซีรัมอ้างอิง Brucella ovis สารสำหรับ Brucella biotyping เช่น phages และ monospecific sera และเริ่มดำเนินการจัดทำ National positive control standard ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ ANSES 2 คนเดินทางมาเยี่ยมติดตามและให้คำแนะนำที่ประเทศไทยครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา และยังมีกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันคือ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “The 3rd FAO-APHCA/OIE Regional workshop on Brucellosis Diagnosis and Control with an emphasis on Brucella melitensis” ระหว่างวันที่ 21-25 พฤศจิกายน 2553 และกิจกรรมอื่นๆ เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและการบรรยายในเรื่องเกี่ยวกับโรคบรูเซลโลสิส เป็นต้น
 
            ในเดือนมกราคม 2554 นายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ มีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา) รับผิดชอบพื้นที่สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 ประกอบด้วยจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มอบหมายให้นายสัตวแพทย์พิพล สุขสายไทยชะนะ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนศูนย์วิจัยและพัฒนการสัตวแพทย์ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะในการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์ฯ แห่งใหม่นี้ ในเบื้องต้นจัดให้มี 4 ห้องปฏิบัติการ ได้แก่ แบคทีเรียวิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา และอิมมูน-ซีรัมวิทยา โดยขอใช้อาคารภายในด่านกักกันสัตว์ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เป็นสถานที่ทำงานชั่วคราว ต่อจากนั้นให้มีการขอตั้งงบประมาณเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งก่อสร้างอาคารปฏิบัติการ ต่อมากรมปศุสัตว์มีคำสั่งที่ 496/2554 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2554 จัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา) มีอำนาจหน้าที่ตรวจ ทดสอบ วินิจฉัย และชันสูตรโรคสัตว์ รวมทั้งสอบสวนและเฝ้าระวังโรคสัตว์ที่มีผลกระทบต่อการผลิตสัตว์ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสุขอนามัยในพื้นที่สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 และพื้นที่ใกล้เคียง ให้คำปรึกษา แนะนำ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโรคสัตว์ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ ประสานงานตามโครงการตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย คำสั่งที่ 541/2554 ลงวันที่ 4 กรกรฏาคม 2554 ให้ข้าราชการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) จำนวน 3 ราย ปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำศูนย์แห่งใหม่ ประกอบด้วยนายบุญเลิศ อ่าวเจริญ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา) และหัวหน้ากลุ่มปรสิตวิทยาและกลุ่มพยาธิวิทยา นายประสบพร ทองนุ่น นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา และนางสาวอุไม บิลหมัด นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มแบคทีเรียวิทยา และคำสั่งที่ 542/2554 ลงวันที่ 4 กรกฏาคมคม 2554 มอบหมายให้ข้าราชการปฏิยัติหน้าที่ราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา) และในปี พ.ศ.2554 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ตะวันออก (ชลบุรี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก (ราชบุรี) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ขอนแก่น) ได้รับการรับรอง ISO 9001 จากสำนักรับรองมาตรฐาน สภาวิจัยแห่งชาติ และเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 กลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะสัตว์ป่า สัตว์น้ำ และอื่นๆ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ จัดประชุมพิจารณาแนวทางในการจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์ป่าในประเทศไทย โดย สพ.ญ.มนยา เอกทัตร์ เป็นประธานในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยฯ สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การสวนสัตว์ฯ สพ.ญ.ตวงทอง ปัจฉิศิริ ประธานคณะทำงานกลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะสัตว์ป่า สัตว์น้ำ และอื่นๆ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เสนอพิจารณาในหัวข้อ "ผลการประชุม Workshop for OIE National Focal Ports for Wildlife บทบาทและหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ในการเป็น OIE National Focal Point และวัตถุประสงค์การจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์ป่าในประเทศไทยของกรมปศุสัตว์" น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน๋ องค์การสวนสัตว์ดุสิตฯ บรรยายหัวข้อ "บทบาทของผู้ปฏิบัติงานด้านโรคสัตว์ป่ากับ One World One Health" และ รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ "แนวทางการจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์ป่า"
 
             เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ได้รับรางวัลรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน รางวัลดีเด่น ประเภทภาพรวมกระบวนงานสำหรับกระบวนงานงานบริการด้านสุขภาพสัตว์แบบบูรณาการ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีพิธีมอบรางวัล ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)เป็นประธาน โดยสัตวแพทย์หญิงวิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์วิมล จิระธนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ รับมองรางวัลครั้งนี้ พร้อมด้วยตัวแทนจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ร่วมงานแสดงความยินดีในโอกาสนี้ นอกจากรางวัลดังกล่าวนี้แล้ว ช่วงปี พ.ศ.2552-2553 สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและหน่วยงานในสังกัดยังได้รับรางวัลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนอีก 4 รางวัล ดังนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก (ชลบุรี) พ.ศ.2552 ได้รับรางวัลกระบวนงานรางวัลชมเชย การให้บริการตรวจวิเคราะห์และชันสูตรโรคสัตว์ และ ปี พ.ศ.2553 กระบวนงานรางวัลดีเด่น การให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และชันสูตรโรคสัตว์แบบบูรณาการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก (ราชบุรี) พ.ศ.2553 ได้รับรางวัลกระบวนงานรางวัลชมเชย การตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และชันสูตรโรคสัตว์ (การรับตัวอย่างและรายงานผลการทดสอบ) ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยฯ พ.ศ.2552 ได้รับรางวัลกระบวนงานรางวัลดีเด่นการให้บริการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคปากและเท้าเปื่อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ก.พ.ร. ยังได้สนับสนุนส่วนราชการที่ได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน นำผลงานการพัฒนาการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนเสนอขอรับรางวัล United Nations Public Service Awards ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
 
              กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2554 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 129 ตอนที่ 3 ก หน้า 4 วันที่ 6 มกราคม 2555 แบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2554 ยกเลิกฉบับปี พ.ศ.2545 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2549 ดังนี้ ปรับปรุงหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร เป็นราชการส่วนกลาง กองนิติการยดฐานะเป็นสำนักกฎหมาย กองบำรุงพันธุ์สัตว์ยกฐานะเป็นสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ และกองอาหารสัตว์ยกฐานะเป็นสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ เปลี่ยนชื่อหน่วยงาน ได้แก่ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 1 - 9 เป็น สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 - 9 และสำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็น สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กำหนดให้มีกลุ่มตรวจสอบภายในและกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงาน สนับสนุนการปฏิบัติงานและพัฒนาการบริหารของกรมปศุสัตว์ และกำหนดหน้าที่ของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติใหม่ ดังนี้ (1) ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และวิจัยทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และการตรวจสอบชีววัตถุ สำหรับสัตว์ (2) ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของชีววัตถุสำหรับสัตว์ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (4) ดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์และห้องปฏิบัติการตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการชันสูตรโรคสัตว์และการตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (5) อนุรักษ์ ศึกษา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์ จุลินทรีย์ และปรสิตในสัตว์ (3) วินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์ รวมทั้งผลิตชีวสารต้นแบบเพื่อใช้ในการทดสอบและป้องกันโรค (6) เป็นศูนย์ข้อมูลระบาดวิทยาทางห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์และศูนย์ข้อมูลด้านชีววัตถุสำหรับสัตว์ (7) ให้คำปรึกษา แนะนำ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ และด้านการตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์และ (8) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
 
              ในปี พ.ศ. 2557 สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์ (ศูนย์ควบคุมคุณภาพชีวภัณฑ์) และศูนย์วิจัย-พัฒนาการสัตวแพทย์ 7 แห่ง คือ ลำปาง พิษณุโลก ขอนแก่น สุรินทร์ ชลบุรี ราชบุรี และนครศรีธรรมราช ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2008 ครบทุกหน่วยงาน ต่อมาสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติได้พัฒนางานและได้รับการรับรอง ISO 9001:2015 ในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 8 ขอบข่าย คือ งานธุรการ งานพัสดุ งานการเงินและบัญชี งานแผนและงบประมาณ งานยานยนต์ งานช่าง งานโสตทัศนูปกรณ์ และงานคอมพิวเตอร์
 
กระทรวงเกษตรและสหกรณฺ์ ออกกฏกระทรวง ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนที่ 88 ก วันที่ 30 ธันวาคม 2557 แบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กำหนดหน้าที่ของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ดังนี้
     (1) ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และวิจัยทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และการตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์
     (2) ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของชีววัตถุสำหรับสัตว์ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
     (3) วินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์ รวมทั้งผลิตชีวสารต้นแบบ เพื่อใช้ในการทดสอบและป้องกันโรค
     (4) ดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์และห้องปฏิบัติการตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการชันสูตรโรคสัตว์และการตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     (5) อนุรักษ์ ศึกษา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์จุลินทรีย์ และปรสิตในสัตว์
     (6) เป็นศูนย์ให้บริการข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศด้านระบาดวิทยาทางห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์และด้านชีววัตถุสำหรับสัตว์
     (7) ให้คำปรึกษา แนะนำ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพสัตว์ และด้านการตรวจสอบชีววัตถุสำหรับสัตว์
     (8) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
 
            แบ่งหน่วยงานออกเป็นกลุ่มพยาธิวิทยา กลุ่มไวรัสวิทยา กลุ่มแบคทีเรียและเชื้อรา กลุ่มปรสิตวิทยา กลุ่มภูมิคุ้มกันวิทยา กลุ่มพิษวิทยาและชีวเคมี กลุ่มระบาดวิทยาทางห้องปฏิบัติการ กลุ่มพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ กลุ่มบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ กลุ่มสัตว์ทดลอง กลุ่มส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ ฝ่ายบริหารทั่วไป ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์ทดสอบและวิจัยคุณภาพชีววัตถุสำหรับสัตว์ ส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์อยู่ในสังกัดสำนักงานปศุสัตว์เขต และแบ่งหน่วยงานภายในอีก 1 หน่วยงานคือ ศูนย์เลปโตสไปโรสิส
 
            ในปี 2560 งานระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ภาคสนาม สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ มาอยู่ในสังกัดสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายห้องปฏิบัติการและงานระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ (Laboratory Network Cooperation and Veterinary Epidemiology center) เพื่อจัดฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนามให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งวิจัยและพัฒนาข้อมูลด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ระหว่างประเทศ
 
            ในปี 2562 แยกงานช่างออกจากฝ่ายบริหารทั่วไป จัดตั้งเป็นฝ่ายความปลอดภัยและความมั่นคงทางห้องปฏิบัติการ เพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยและมั่นคงทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและเครือข่ายห้องปฏิบัติการชันสูตร-วิจัยโรคสัตว์ ดูแลระบบไฟฟ้า ประปา สุขาภิบาล โทรศัพท์ ลิฟท์ เครื่องปรับอากาศ ห้องเย็น ห้องปลอดเชื้อ ห้อง BLS3 ตู้นิรภัย ฯลฯ รวมทั้งตรวจสอบ ซ่อมแซมครุภัณฑ์ อาคาร และสิ่งก่อสร้าง