ข้อควรทราบก่อนใช้วัคซีน
1. ทำวัคซีนให้แก่สัตว์ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และไม่เป็นโรคเท่านั้น
2. ศึกษารายละเอียด การเก็บรักษาและการทำวัคซีน ตามคำแนะนำเฉพาะของวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. ให้ใช้วัคซีนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้นในกรณีเกิดโรคระบาดในท้องที่นั้นหรือใกล้เคียง
4. ต้องให้วัคซีนซ้ำเมื่อหมดระยะความคุ้มโรคของวัคซีนแต่ละชนิด
5. ห้ามนำวัคซีนที่เสื่อมสภาพ หมดอายุ มีการปนเปื้อน หรือสีของวัคซีนเปลี่ยนมาใช้
6. การใช้วัคซีนในแม่พันธุ์ สามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ในระยะแรกเกิด
7. ต้องทราบว่าวัคซีนใช้ป้องกันก่อนเกิดโรค มิใช่ยาที่รักษาเมื่อเป็นโรคแล้ว การป้องกันโรคจึงต้องกมีการจัดการฟาร์มที่ดีด้วย
รูปแบบของวัคซีน
วัคซีนที่กรมปศุสัตว์ผลิตสำหรับป้องกันโรคต่างๆ มี 2 รูปแบบ คือ
1. วัคซีนบรรจุขวดแบบน้ำหรือน้ำมันพร้อมฉีด วัคซีนแบบนี้ก่อนใช้ให้เขย่าขวดจดวัคซีนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วใช้เข็มฉีดยาดูดออกมาใช้ได้ทันที วัคซีนบรรจุขวดแบบน้ำหรือน้ำมัน
2. วัคซีนทำแห้ง วัคซีนแบบนี้จะมี 2 ส่วน คือตัววัคซีนลักษณะแห้งอยู่ในขวดสุญญากาศ และขวดน้ำยาละลายแยกต่างหาก เมื่อจะใช้ต้องนำมาผสมกัน
วัคซีนทำแห้ง
การปฏิบัติก่อนใช้วัคซีน
1. ต้มเข็มและกระบอกฉีดยาในน้ำสะอาดให้เดือดนาน 15 นาที แล้วคอยให้เย็น ห้ามแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้เข็มและกระบอกฉีดยาพลาสติก
ปราศจากเชื้อสำเร็จรูปพร้อมใช้
2. ก่อนใช้ต้องเขย่าให้เข้ากันดีทั้งวัคซีนชนิดน้ำหรือน้ำมัน และวัคซีนทำแห้งที่ต้องละลายด้วยน้ำยาละลาย
3. ควรนำขวดวัคซีนชนิดน้ำมันออกจากตู้เย็นก่อนใช้ประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อฉีดได้ง่ายขึ้น
4. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ เช็ดจุกยางและคอขวดวัคซีนและขวดน้ำยาละลายก่อนแทงเข็มเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
การปฏิบัติหลังใช้วัคซีน
1. หลังจากใช้วัคซีนแล้ว นำเข็มและกระบอกฉีดยาไปต้มฆ่าเชื้อ ส่วนขวดบรรจุวัคซีนที่ใช้แล้วให้เปิดจุกแล้วนำไปต้ม หรือเผา หรือแช่น้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำไปทิ้ง
2. สัตว์บางตัวอาจเกิดการแพ้วัคซีนหลังฉีดวัคซีน จึงควรรอสังเกตอาการประมาณ 1 ชั่วโมง ภายหลังฉีดวัคซีนแล้ว ถ้ามีอาการแพ้ให้รักษาด้วยแอดรีนาลีน 0.5 – 1 มก. ต่อน้ำหนัก 50 กก. หรือแอนติฮีสตามีน 0.5-1 มก. ต่อน้ำหนัก 1 กก.
3. ล้างมือให้สะอาดภายหลังทำวัคซีน
ข้อควรระวังที่สำคัญ
1. อย่าให้วัคซีนถูกความร้อนและแสงแดด
2. วัคซีนทำแห้งที่ต้องผสมกับน้ำยาละลาย เมื่อผสมแล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 2 ชั่วโมงและแช่เย็นตลอดเวลา
3. ห้ามใช้วัคซีนชนิดน้ำมันที่มีการแยกชั้นน้ำวัคซีนที่ก้นขวด
4. ควรระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์และตำแหน่งที่ฉีด
5. ระวังอย่าให้วัคซีนเข้าตาของคน
ตำแหน่งบนตัวสัตว์ที่จะใช้ฉีดวัคซีน
โค กระบือ แพะ แกะ
1. การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ จะทำบริเวณกล้ามเนื้อหนาๆ มี 2 บริเวณ คือ
1.1 บริเวณที่เป็นสามเหลี่ยมที่คอ ด้านหน้าซ้ายหรือขวาของขาหน้า
1.2 บริเวณลาดบั้นท้ายสะโพก ด้านซ้ายหรือขวา
2. การฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง จะทำบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวมากๆ มี 2 บริเวณ คือ
2.1 บริเวณที่เป็นสามเหลี่ยมที่คอ ด้านหน้าซ้ายหรือขวาของขาหน้า
2.2 บริเวณด้านหลังของขาหน้า ด้านซ้ายหรือขวา
สุกร
1. การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ
1.1 บริเวณคอหลังใบหู แทงตั้งฉากกับบริเวณที่ฉีด
1.2 บริเวณด้านในของโคนขาหลัง วิธีนี้ใช้กับสุกรเล็ก
2. การฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง บริเวณเดียวกับ 1.1 แต่แทงปลายเข็มลงล่าง
3. ใช้เข็มเบอร์ 20 ยาว 1 นิ้ว
สัตว์ปีก
1. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ใช้เข็มเบอร์ 21 ยาวครึ่งนิ้ว
1.1 บริเวณกล้ามเนื้อหน้าอก
1.2 บริเวณโคนขาหลัง แต่ต้องระวังเนื่องจากกล้ามเนื้อขาหลังมีเส้นประสาทใหญ่พาดผ่าน
2. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง : บริเวณหลังคอใช้เข็มเบอร์ 21 ยาวครึ่งนิ้ว
3. หยอดตา : ดึงหนังตาล่าง หยดวัคซีนด้วยหลอดหยดลงที่ตา
4. หยอดจมูก : ใช้นิ้วมือปิดจมูกข้างหนึ่งแล้วหยอดวัคซีนที่รูจมูกข้างที่เหลือ เมื่อไก่สูดวัคซีนแล้วจึงปล่อยนิ้ว
5. แทงปีก : ใช้เข็มรูปส้อมจุ่มวัคซีนในขวด แทงที่พังผืดของปีกระหว่างเส้นเลือด
ที่มา : สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ http://www.dld.go.th/biologic/th/index.php?option=com_content&view=article&id=139:intro1&catid=29:introvaccine&Itemid=57